ข้อมูลและเคล็ดลับเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน ที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล PPE

by Javier Anderson
460 views
อุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล

PPE คือ สิ่งหนึ่งหรืออุปกรณ์ที่เราเอามาใส่บนร่างกายของเรา เพื่อให้เราสามารถลดความรุนแรง หรือป้องกันอันตรายในการทำงานต่างๆ ได้

ปัจจุบันทางเราก็จะมีจัดไว้ให้พนักงานได้ใช้ใครที่จะซื้อเข้ามาใช้ต้องผ่านฝ่ายความปลอดภัยที่มีการตรวจสอบทั้งคุณภาพและสภาพให้สามารถใช้ได้แล้วเท่านั้น

ส่วนผู้รับเหมาที่นำเข้ามานั้นเราก็จะบังคับว่าต้องใช้อุปกรณ์ PPE ที่ได้มาตรฐานของ ANSI OSHA หรือ ASTM เท่านั้นและใช้ให้ถูกต้องเหมาะสมตามลักษณะงานตรวจสอบอุปกรณ์ก่อนการใช้งานทุกครั้งหากพนักงานไม่สวมใส่ PPE ที่ถูกต้องทางเราจะไม่อนุญาตให้ปฏิบัติงานรวมทั้งไม่อนุญาตให้เข้ามาในพื้นที่การทำงานด้วย

หากอุปกรณ์ PPE เกิดการสูญหาย

  • กรณีที่เป็นพนักงานของบริษัทเอง จะต้องมีการแจ้งต่อหัวหน้างานและเบิกใหม่จากสโตร์
  • ส่วนผู้รับเหมา จะต้องมีการแจ้งขอเบิกใหม่จากหน่วยงานของท่านเท่านั้น มิฉะนั้นเราจะไม่อนุญาตให้ปฏิบัติงาน

หัวหน้าแผนกจะต้องดูแลการเบิกจ่าย PPE ของพนักงานอย่างถูกต้อง และมีการควบคุมให้สวมใส่และใช้งาน อย่างถูกต้องและเหมาะสม

ปัจจุบันอุปกรณ์ PPE ที่โรงงานเราใช้ มีดังนี้

1. หมวกป้องกันศีรษะ หรือหมวกเซฟตี้ ซึ่งจะต้องเป็นหมวกที่ได้มาตรฐาน

โดยมีส่วนประกอบของหมวกครบถ้วน คือ มีเปลือกหมวกที่มั่นคงแข็งแรงเป็นชิ้นเดียวกัน ไม่มีรอยต่อ วัสดุที่ทำ คือ ABS หรือ HDPE และ ข้างในหมวกต้องมี รองในด้วยเป็นตัวรองศีรษะอีกชั้นหนึ่ง รวมทั้งมีสายรัดศีรษะ เพื่อให้แนบสนิทกับศีรษะของผู้ปฏิบัติงาน มีที่ซับเหงื่อ คอยเอาไว้ซับเหงื่อ บริเวณหน้าผาก และมีสายรัดคาง ป้องกันการหลุดจากศีรษะ

ปัจจุบันหมวกที่เราใช้สามารถกันของแข็งได้ และกันกระแสไฟฟ้าได้เล็กน้อย ซึ่งพนักงานผู้ใช้งานก็ต้องดูแลรักษาอุปกรณ์หมวกเซฟตี้ของตัวเองด้วยก่อนการใช้งานแต่ละวัน ต้องมีการตรวจสอบสภาพก่อน ว่ามีรอยร้าวหรือไม่ เช็ดและทำความสะอาดอยู่เสมอ รวมทั้งบางอย่างอาจจะต้องมีอะไหล่สำรอง เช่น ตัวรองใน ตัวซับเหงื่อ หรือแม้แต่กระทั่งสายรัดศีรษะ ต้องมีสำรองอยู่เสมอ เผื่อชำรุดจะได้เปลี่ยนใช้งานได้ การจัดเก็บนั้นต้องเก็บให้ดีอย่าเก็บในที่กลางแจ้งหรือที่ร้อนหมวกหนึ่งใบจะมีอายุการใช้งานปกติประมาณ 3-5 ปี

การใช้หมวกนิรภัยและแว่นตานิรภัย

2. อุปกรณ์ป้องกันใบหน้าและดวงตา

เช่น แว่นเซฟตี้ที่เราใช้กัน รวมทั้ง Face shield สำหรับแว่นตานิรภัยที่เราใช้นั้น เลนส์ทำจาก โพลีคาบอเนต ทนทานต่อแรงกระแทก ต่อความร้อน สามารถใช้งานกลางแจ้งได้ โดยเราจะให้ใช้เป็นเลนส์สีชาได้ หรือสีเทาๆ ได้ แต่เราไม่ให้ใช้เลนส์สีดำโดยเด็ดขาด แว่นครอบตา ถ้าเป็นทำงานกับสารเคมี ต้องครอบตาแนบสนิทกับรูปหน้า ส่วนถ้าเป็นกระบังป้องกันหน้าหรือ Face shield จะต้อง มีความเหมาะสมกับงาน ป้องกันได้ทั้งสารเคมี และแรงกระแทกได้เบื้องต้น และป้องกันรังสีความร้อนได้

ส่วนถ้าเป็นงานเชื่อม ต้องใช้เป็นหน้ากากเชื่อมเท่านั้นนะ ซึ่งออกแบบมาเพื่อป้องกันดวงตา ใบหน้า จากสะเก็ดไฟและรังสี UV เข้มๆ จากการเชื่อมได้ สำหรับการดูแลรักษาอุปกรณ์ป้องกันใบหน้าและดวงตาก็คือ หมั่นทำความสะอาด อย่าวางเลนส์แว่นให้อยู่ติดพื้น หรือขูดขีดกับพื้น เก็บไว้ในที่ ที่ไม่ร้อนอบอ้าวมากเกินไป สำรวจตรวจความชัดของเลนส์ ก่อนการใช้งานทุกครั้งและถ้าเกิดพบว่ามีการชำรุดให้แจ้งเปลี่ยนทันที อุปกรณ์เกี่ยวกับดวงตา เราปล่อยประมาทไม่ได้

3. อุปกรณ์เกี่ยวกับเรื่องการป้องกันระบบการได้ยิน

เพื่อป้องกันไม่ให้เราได้รับอันตรายจากเสียงดัง อุปกรณ์ชนิดนี้จะใช้กับบริเวณพื้นที่ที่มีค่าเสียงดังเกินค่ามาตรฐาน เราจัดไว้ให้ คือ Earplug คือ ปลั๊กอุดหูสำหรับพื้นที่ ที่เสียงดังเกินค่ามาตรฐานไม่มาก ลดเสียงได้ประมาณ 15-20 เดซิเบล และความถี่ของคลื่นเสียงนั้นไม่มาก แต่ถ้าเกิดเป็นพื้นที่ ที่ความถี่ของเสียงเยอะ และความเข้มของเสียงเยอะมาก ก็จะเป็น Earmuff เป็นที่ครอบหู และต้องเก็บดูแลรักษาให้ดี Earplug ต้องสวมใส่อย่างถูกต้อง ทำความสะอาดก่อนใช้งานทุกครั้ง และใช้ของใครของมัน ห้ามใช้ร่วมกัน

4. อุปกรณ์ป้องกันระบบทางเดินหายใจ หรือบริเวณจมูก

ทางโรงงานมีการจัดให้ สองแบบ คือ แบบกรองมลพิษ และแบบมีอากาศภายในที่ส่งได้เอง แบบกรองมลพิษ คือ พวกหน้ากากกรอง แบบหน้ากากที่มีอากาศภายในนั้นก็คือจะเป็นระบบของ SCBA (Self Contained Breathing Apparatus) แบบระบบกรองอากาศนั้น เราจะมีหน้ากากกรองแบบที่มีตลับกรอง โดยตลับกรองที่เราใช้นั้นจะมีทั้งหมด 7 สี ใช้กับการเจอมลพิษที่ต่างรูปแบบกัน ถ้าเป็นไอกรด ให้ใชรหัสสี เป็นสีขาว ถ้าเป็นไอระเหยของพวกสารอินทรีย์ เช่น น้ำมันก๊าซ เบนซิน จะให้ใช้รหัสสีเป็นสีดำ แต่ถ้าเกิดเป็นไอระเหยอื่นๆ และไอกรดของพวกสารอินทรีย์ เคมี จะใช้เป็นสีเหลือง

แต่ถ้าเป็นไอระเหยประเภท แอมโมเนีย เราจะใช้เป็นสีน้ำตาล แต่ถ้าเป็นพวกอนินทรีย์ เช่น คลอรีน ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เราจะใช้เป็นสีเทา ส่วนแอมโมเนียแล้วก็สารเอมีน จะใช้เป็นสีเขียว และพวกไอปรอทนั้น เราจะใช้รหัสสีเป็นสีแดง เราต้องเลือกใช้อย่างเหมาะสมกับหน้างานของเราด้วย ส่วนหน้ากากอื่นๆที่ใช้ในโรงงานเราก็จะมี หน้ากากกรอง N95 บริเวณที่มีฝุ่นเยอะๆ หรือหน้ากากที่มีคาร์บอน N95 แบบคาร์บอน

อันนี้จะช่วยกรองกลิ่นได้ด้วย รวมทั้งหน้ากากแบบครึ่งหน้า ที่มีตัวกรองอยู่ซึ่งเราใช้เป็นของ 3M ก็จะมีของ Filter 3M 2701 ใช้กรองฝุ่นละอองและฟูมโลหะ และ Filter 3M 6006 ใช้ป้องกันไอระเหย จากสาร Solvent ตัวทำละลายหรือ ฟอมัลดีไฮด์ ส่วนใหญ่ใช้บริเวณที่มีการใช้แก๊สหลายประเภท ที่ระเหยอยู่ในพื้นที่นั้นๆ นั่นเอง

5. อุปกรณ์ ป้องกันมือและแขน ก็จะมีพวกถุงมือต่างๆ

ทางเราจะไม่อนุญาตให้ใช้ถุงมือผ้าสำหรับงานซ่อมบำรุง และงานในกระบวนการผลิต ต้องเป็นถุงมือเฉพาะเท่านั้น ถุงมือกันบาดสำหรับงานที่สัมผัสกับวัตถุแหลมคม ป้องกันการขีด ข่วน บาด เฉือน ถุงมือกันสารเคมี สำหรับงานที่ต้องสัมผัสกับสารเคมีเช่น กรด หรือด่าง แอลกอฮอล์ หรือแม้กระทั่งพวกน้ำมันต่างๆ ถุงมือกันความร้อน สำหรับ กรณีว่าต้องมีการสัมผัสกับโลหะร้อน หรืองานในห้องทดลอง ห้องแล็บต่างๆ ถุงมือป้องกันไฟฟ้า สำหรับงานที่ทำงานกับไฟฟ้าแรงสูง โดยถุงมือกันไฟฟ้าต้องใช้ร่วมกับถุงมือหนังเพื่อกันบาดจากวัสดุที่ใช้ไฟฟ้าด้วย และการเก็บรักษา ถุงมือนั้นต้องดูแลรักษาให้ดี ใช้ให้เหมาะสมกับประเภทของงาน ทำความสะอาดทุกครั้งหลังการใช้งาน เก็บในที่ ที่ไม่ร้อนจนเกินไป และถ้าพบว่าขาดหรือมีรู ให้แจ้งเปลี่ยนทันที เพราะมันจะไม่สามารถกันได้

การใช้อุปกรณ์ป้องกันระบบทางเดินหายใจ

6. อุปกรณ์ป้องกันร่างกาย

ก็จะเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ป้องกัน หน้าอก ท้อง และลำตัว ก็จะมีชุดป้องกันความร้อนต่างๆ โดยเราจะมีวัสดุที่ทำจาก อะลูมิไนซ์ เคร็ปป้า ไม่ลามไฟ ป้องกันได้อุณหภูมิ ประมาณ 100-1000 องศาเซลเซียส จะเหมาะกับงานหน้าเตาหลอม งานผจญเพลิง งานเชื่อม งานเสี่ยงต่อไฟไหม้ และชุดป้องกันการอาร์คไฟฟ้า แล้วก็จะมีชุดป้องกันสารเคมี ที่เราใช้ก็จะมีหลายแบบ ทั้งแบบชุดหมี ซึ่งวัสดุทำจาก PVC นีโอพลีน ไวนิล หรือ โพลีเอททิลีน ก็ต้องเลือกที่เหมาะสมกับงาน ปัจจุบันชุดป้องกันสารเคมี

เราจะมีการใช้อยู่ 4 ระดับ A B C และ D โดย A ก็คือ เป็นชุดที่ป้องกันระดับที่สูงสุด ชุดนี้จะใช้ร่วมกับ SCBA ก็คือจะต้องมีการใช้ถัง ออกซิเจนเข้าไปด้วย ใช้ในกรณีที่ว่าเจอสารเคมีรั่วไหลที่อันตรายค่อนข้างร้ายแรง ไม่สามารถหายใจด้วยอากาศบริเวณนั้นได้ ส่วนชุด B จะใช้กับความรุนแรงที่รองลงมา ยังใช้กับ SCBA อยู่ แต่การป้องกันจะไม่เท่าชุด A ส่วนชุด C จะเป็นกรณีสารเคมีรั่วไหล ซึ่งสามารถใช้หน้ากากกรองก็เพียงพอและชุด D คือ ใช้ในการทำงานกับสารเคมีทั่วๆ ไป แต่ต้องเป็นกรณีที่สารนั้น ไม่มีผลต่อระบบทางเดินหายใจเท่านั้น หลังจากใช้งานแล้ว ต้องทำความสะอาดทุกครั้ง ล้างเช็ดอย่างเหมาะสม และเก็บในที่ ที่อุณหภูมิพอเหมาะและเหมาะสม ไม่มีสารเคมีใดๆ มารบกวน

7. อุปกรณ์ป้องกันเท้า เพื่อป้องกันการตกกระแทก หนีบ ทับ หรือแทง

จากวัสดุ รวมทั้งความร้อน และสารเคมีด้วย ที่เราใช้ก็จะมี รองเท้านิรภัย หรือรองเท้าเซฟตี้หัวเหล็ก จะต้อง ทนน้ำมัน ทนสารเคมี และทนความร้อนได้ ประมาณ 160-350 องศาเซลเซียส ก็จะมีหลายแบบที่เราใช้ ทั้งแบบหุ้มส้น ทั้งแบบบูทก็ต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับลักษณะงาน และหลังใช้แล้วต้องทำความสะอาดทุกครั้ง ห้ามเหยีบส้นโดยเด็ดขาดใช้ของใครของมันหากชำรุดให้แจ้งเจ้าหน้าที่หรือผู้เกี่ยวข้องเพื่อเปลี่ยนใหม่

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

แหล่งรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์และทันสมัยในเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน ที่คุณสามารถเรียนรู้ได้ในทุกๆวัน

ติดต่อ

Copyright @2024  All Right Reserved – Designed and Developed by  jordanhopfner