วันนี้เราจะพามารู้จักกับปั้นจั่นหรือเรียกกันติดปากว่าเครนปัจจุบันได้ถูกแยกให้ออกเป็น 2 ชนิดตามที่กฎหมายกำหนด
ปั้นจั่นหรือที่เรามักเรียกว่าเครนเป็นเครื่องจักรชนิดหนึ่ง ที่ใช้ช่วยในการยก เคลื่อนย้ายสิ่งของที่มีขนาดใหญ่ มีน้ำหนักมาก ทำให้เราสามารถทำงานได้อย่างสะดวก แต่การทำงานกับปั้นจั่นนั้น หากใช้ไม่ถูกวิธี ก็อาจจะก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้เช่นกัน
เครน เป็นภาษาอังกฤษ ของ คำว่าปั้นจั่น ทำให้เราเรียกติดปากว่าเครน แต่ในทางกฎหมายจะใช้คำว่าปั้นจั่น
ซึ่งกฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่น และหม้อน้ำ พ.ศ. 2564 ได้ให้ความหมายไว้ว่า “ปั้นจั่น หมายความว่า เครื่องจักรที่ใช้ยกสิ่งของขึ้นลงตามแนวดิ่ง และเคลื่อนย้ายสิ่งของเหล่านั้นในลักษณะแขวนลอยไปตามแนวราบ” โดยจะแบ่งเป็น
- ปั้นจั่นชนิดอยู่กับที่ หมายความว่า ปั้นจั่นที่ประกอบด้วยอุปกรณ์ควบคุม และเครื่องต้นกำลังอยู่ในตัว ซึ่งติดตั้งอยู่บนหอสูง ขาตั้ง หรือบนล้อเลื่อน
- ปั้นจั่นชนิดเคลื่อนที่ หมายความว่า ปั้นจั่นที่ประกอบด้วยอุปกรณ์ควบคุม และเครื่องต้นกำลังอยู่ในตัว ซึ่งติดตั้งอยู่บนยานพาหนะที่ขับเคลื่อนได้
1. ปั้นจั่นชนิดอยู่กับที่ (ปจ1)
2. ปั้นจั่นชนิดแบบเคลื่อน (ปจ2)
ทั้งสองชนิดนี้แตกต่างกันตรงที่หากเป็นปั้นจั่นชนิดเคลื่อนที่เราจะเรียกว่า ปจ2 แต่ถ้าเกิดว่าเป็นชนิดอยู่กับที่เราจะเรียกว่า ปจ1 ทั้งสองชนิดนี้ตามกฎหมายแล้วจะต้องได้รับการตรวจสอบโดยวิศวกรเครื่องกลที่ได้รับอนุญาตและขึ้นทะเบียนกับ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานตามกฏหมายใหม่
หากใครที่ต้องการจะตรวจสอบเครนจะต้องดูให้แน่ใจก่อนว่าวิศวะก่อนที่ทำการตรวจสอบนั้นมีคุณสมบัติเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดปั้นจั่นมักจะได้ยินเกี่ยวกับการเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งสิ่งเหล่านี้อาจเป็นเพราะว่าไม่ได้มีการตรวจสอบเครนว่ามีความพร้อมใช้งานของปั้นจั่น และไม่ได้ทำการทดสอบพิกัดการยกอย่างปลอดภัย หรือโหลดเทสเครนจึงทำให้เกิดอุบัติเหตุขณะใช้งานส่งผลให้ผู้ปฏิบัติงานได้รับการบาดเจ็บโดยส่วนใหญ่ปั้นจั่นจะต้องทำการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอตามพิกัดการยกที่ระบุน้ำหนักการยกว่ากำหนดให้ปั้นจั่นยกได้มากเท่าไหร่ และ จะต้องทำการตรวจสอบตามความถี่ที่กฎหมายได้ระบุไว้อย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ
เราสามารถป้องกันอันตรายจากการทำงานกลับเครนได้โดย
- การปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด
- ไม่ทำการดัดแปลงปั้นจั่น
- ทำการตรวจสอบก่อนใช้งานปั้นจั่นเป็นประจำทุกวันโดยการตรวจสอบตามแบบฟอร์มเช็คลิส
- สวมใส่ PPE ขณะทำงานทุกครั้ง
- ตรวจสอบระบบป้องกันฉุกเฉินของปั้นจั่น
สิ่งเหล่านี้ผู้ปฏิบัติงาน สามารถตรวจสอบเบื้องต้นได้ด้วยตนเองก่อนใช้งานประจำวันเพื่อให้แน่ใจว่าปั้นจั่นมีสภาพที่สมบูรณ์ก่อนนำไปใช้งานรวมไปถึงการตรวจสอบอุปกรณ์ฉุกเฉินต่างๆ เช่น ปุ่ม Emergency และ ป้ายเตือน เสียงเตือนต่างๆ ขณะที่ปั่นจั่นกำลังเคลื่อนที่หรือปฏิบัติงานจะต้องมีแสงสว่างและเสียงเตือนเพื่อให้คนบริเวณรอบข้างได้รับรู้ว่ามีการปฏิบัติงานเกี่ยวกลับเครนในพื้นที่นั้นๆ
อีกสิ่งหนึ่งที่มีความจำเป็นจะต้องตรวจสอบให้แน่ชัดว่าผู้ปฏิบัติงานได้ผ่านการฝึกอบรมเกี่ยวกับการใช้งานปั้นจั่นอย่างถูกวิธีตามหลักสูตรที่กฎหมายกำหนดการทำงานกับปั้นจั่น 4 ผู้ ผู้ปฏิบัติงานจะต้องผ่านการฝึกอบรมเครนเพื่อให้ทราบถึงวิธีการควบคุมเครนได้อย่างถูกต้องปลอดภัยเป็นไปตามมาตรฐานสากลรวมไปถึงเรียนรู้เกี่ยวกับสัญลักษณ์การให้สัญญาณเครน
ใครสามารถทำงานกับปั้นจั่นได้
ผู้ที่สามารถปฏิบัติงานกับปั้นจั่นได้อย่างปลอดภัย ต้องผ่านการอบรมหลักสูตรการปฏิบัติหน้าที่ผู้บังคับปั้นจั่น
ผู้ให้สัญญาณแก่ผู้บังคับปั้นจั่น ผู้ยึดเกาะวัสดุ หรือผู้ควบคุมการใช้ปั้นจั่น และการอบรมทบทวนการทำงานเกี่ยวกับปั้นจั่น ซึ่งแต่ละหลักสูตรจะกำหนดหัวข้อในการอบรม ระยะเวลาในการฝึกอบรม และคุณสมบัติของวิทยากรเอาไว้ด้วย และเมื่อมีการจัดอบรมนายจ้างต้องจัดทำทะเบียนรายชื่อผู้ที่ผ่านการฝึกอบรม วัน เวลาที่ฝึกอบรม พร้อมรายชื่อวิทยากร เก็บไว้ในสถานประกอบกิจการด้วย ซึ่งผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมแล้ว จะมีหลักฐานการผ่านการอบรมเก็บไว้ด้วย ซึ่งการทำงานเกี่ยวกับปั้นจั่น จะมีอยู่ 4 ผู้ ดังนี้
- “ผู้บังคับปั้นจั่น” หมายความว่า บุคคลซึ่งทำหน้าที่บังคับการทำงานของปั้นจั่นให้ทำงานตามความต้องการ
- “ผู้ให้สัญญาณแก่ผู้บังคับปั้นจั่น” หมายความว่า บุคคลซึ่งทำหน้าที่ให้สัญญาณมือหรือสัญญาณสื่อสารชนิดอื่นกับผู้บังคับปั้นจั่น
- “ผู้ยึดเกาะวัสดุ” หมายความว่า บุคคลซึ่งทำหน้าที่ผูก มัด หรือเกี่ยววัสดุที่ใช้ปั้นจั่นยก
- “ผู้ควบคุมการใช้ปั้นจั่น” หมายความว่า บุคคลซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการใช้ การสั่งการให้ผู้บังคับปั้นจั่น ปฏิบัติตาม ตลอดจนพิจารณาน้ำหนักที่จะทำการยกและจัดทำแผนการยก
ซึ่งทั้ง 4 ผู้ถือว่ามีความสำคัญมากในการทำงานกับปั้นจั่นไม่ว่าจะเป็นปั้นจั่นประเภทไหนผู้ปฏิบัติงานก็ต้องผ่านการฝึกอบรมด้วยกันทั้งสิ้นทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานและผู้ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงด้วย
อุบัติเหตุจากการทำงานกับเครนเกิดจากอะไร
อุบัติเหตุจากการทำงานกับเครน เกิดได้จากหลายสาเหตุ ในการเกิดอุบัติเหตุแต่ละครั้งย่อมมีสาเหตุที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้อาจขึ้นอยู่กับชนิดของเครนที่ใช้งานด้วย ในที่นี้เราจะแบ่งเป็น
- สาเหตุจากการกระทำที่ไม่ปลอดภัยสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานกับเครน ที่เกิดจากการกระทำที่ไม่ปลอดภัย ส่วนมากจะเกิดจากตัวผู้ปฏิบัติงาน เช่น ผู้ปฏิบัติงานไม่ผ่านการอบรม ทำให้ไม่มีความรู้ ความเข้าใจในงานที่ทำ ผูกมัดวัสดุไม่ถูกวิธี ยกของเกินพิกัดน้ำหนักที่สามารถยกได้ ยืนอยู่ใต้สิ่งของที่กำลังยก หรือผู้ปฏิบัติงานไม่สวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล เป็นต้น
- สาเหตุจากสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัยสาเหตุจากสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย ที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุจากเครน เช่น รถเครนวิ่งบนทางที่ขรุขระเป็นหลุม ปฏิบัติงานในพื้นที่ที่มีความลาดชั้น สภาพพื้นดินในการปฏิบัติงานไม่แข็งแรง อ่อนยวบ เป็นต้น
- สาเหตุจากเครื่องจักร (ปั้นจั่น) ที่ไม่ปลอดภัยสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุจากสภาพปั้นจั่นที่ไม่ปลอดภัย ถือเป็นสิ่งที่อันตรายที่สุด
เนื่องจากว่า หาก ปั้นจั่นอยู่ในสภาพที่ไม่พร้อมใช้งาน ไม่ผ่านการตรวจสอบตามที่กฎหมายกำหนด อาจส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ เช่น ระบบเบรค ลวดสลิงที่ใช้ในการยก เป็นต้น
ข้อแนะนำวิธีการทำงานกับปั้นจั่นอย่างปลอดภัย
การปฏิบัติงานกับปั้นจั่นอย่างปลอดภัย มีหลายองค์ประกอบด้วยกัน ซึ่งแต่ละองค์ประกอบทำให้เกิดความปลอดภัยในการทำงาน ยิ่งปฏิบัติตามมากเท่าไหร่ ยิ่งเกิดความปลอดภัยมากเท่านั้น
1. การอบรม
การอบรมเป็นพื้นฐานของความปลอดภัย มีความจำเป็นอย่างมากที่ผู้ปฏิบัติงานกับปั้นจั่น ต้องผ่านการอบรมตามหลักสูตรที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายและสามารถปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัย และต้องมีการอบรมทบทวนด้วย ซึ่งหากผู้ปฏิบัติงานกับปั้นจั่นไม่มีความรู้ ความเข้าใจอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้
2. การตรวจสอบปั้นจั่น
นอกจากผู้ปฏิบัติงานกับปั้นจั่นต้องผ่านการอบรมตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว การตรวจสอบปั้นจั่นตามระยะเวลาที่กำหนดก็เป็นเรื่องที่สำคัญมากเช่นกัน ซึ่งการตรวจสอบปั้นจั่นนั้น ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการทดสอบส่วนประกอบของปั้นจั่น กำหนดไว้ว่า ให้มีการทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่นปีละไม่น้อยกว่า 1 ครั้ง ตามประเภทและลักษณะของงาน โดยแบ่งได้ดังนี้
ปั้นจั่นที่ใช้ในงานก่อสร้าง
- ขนาดพิกัดยกอย่างปลอดภัยตามที่ผู้ผลิตกำหนดไม่เกิน 3 ตัน ต้องจัดให้มีการทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่นทุกๆ 6 เดือน
- ขนาดพิกัดยกมากกว่า 3 ตันขึ้นไป ต้องจัดให้มีการทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่นทุกๆ 3 เดือน
- ที่ไม่มีรายละเอียดพิกัดยกอย่างปลอดภัยตามที่ผู้ผลิตกำหนดในการทดสอบ ให้ทดสอบโดยใช้ขนาดพิกัดยกตามที่วิศวกรกำหนด
ปั้นจั่นที่ใช้งานอื่นๆ
- ขนาดพิกัดยกอย่างปลอดภัยตามที่ผู้ผลิตกำหนดตั้งแต่ 1 ตัน แต่ไม่เกิน 3 ตัน ต้องทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่นปีละ 1 ครั้ง
- ขนาดพิกัดยกมากกว่า 3 ตัน แต่ไม่เกิน 50 ตัน ต้องจัดให้มีการทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่นทุกๆ 6 เดือน
- ขนาดพิกัดยกมากกว่า 50 ตันขึ้นไป ต้องจัดให้มีการทดสอบส่วนประกอบและอุปกณ์ของปั้นจั่นทุกๆ 3 เดือน
- ที่ไม่มีรายละเอียดขนาดพิกัดยกอย่างปลอดภัยตามที่ผู้ผลิตกำหนด ในการทดสอบให้ทดสอบโดยใช้ขนาดพิกัดยกตามที่วิศวกรกำหนด
ปั้นจั่นที่หยุดใช้งานตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป หรือปั้นจั่นที่มีการซ่อมแซมที่มีผลต่อความปลอดภัยของปั้นจั่น ก่อนนำมาใช้งานใหม่จะต้องจัดให้มีการทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่น ทั้งปั้นจั่นที่ใช้ในงานก่อสร้างและปั้นจั่นที่ใช้ในงานอื่นๆ นอกจากการทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่นแล้ว ต้องมีการทดสอบการรับน้ำหนักของปั้นจั่นด้วย ซึ่งการทดสอบการรับน้ำหนักให้ปฏิบัติดังนี้
ปั้นจั่นใหม่ก่อนจะนำมาใช้งานให้ทดสอบการรับน้ำหนักดังนี้
- ขนาดไม่เกิน 20 ตัน ให้ทดสอบการรับน้ำหนักที่ 1 เท่า แต่ไม่เกิน 1.25 เท่า ของพิกัดยกอย่างปลอดภัย
- ขนาดมากกว่า 20 ตัน แต่ไม่เกิน 50 ตัน ให้ทดสอบการรับน้ำหนักเพิ่มอีก 5 ตัน จากพิกัดยกอย่างปลอดภัย
ปั้นจั่นที่ใช้งานแล้ว ให้ทดสอบการรับน้ำหนักที่ 1.25 เท่าของน้ำหนัก ที่ใช้งานจริงสูงสุดโดยไม่เกินพิกัดยกอย่างปลอดภัยตามที่ผู้ผลิตกำหนด กรณีไม่มีพิกัดยกอย่างปลอดภัยที่ผู้ผลิตกำหนด ให้ทดสอบการรับน้ำหนักตามที่วิศวกรกำหนดน้ำหนักที่ใช้ทดสอบการยก อาจใช้การทดสอบด้วยน้ำหนักจริงหรือทดสอบด้วยน้ำหนักจำลองก็ได้นอกจากการตรวจสอบที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังจำเป็นต้องตรวจสอบก่อนการใช้งานประจำวัน โดยผู้ใช้งาน เพื่อตรวจสอบความพร้อมของปั้นจั่นก่อนการใช้งานด้วย
PPE ที่ต้องใช้ขณะทำงานกับปั้นจั่น
ในการทำงานกับปั้นจั่นนอกจากผู้ปฏิบัติงานต้องผ่านการอบรมตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว ผู้ปฏิบัติงานยังต้องสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล ดังนี้
- ต้องสวมหมวกนิรภัย
- ถุงมือผ้า หรือถุงมือหนัง
- รองเท้านิรภัย
และสำหรับปั้นจั่นหอสูง ปั้นจั่นขาสูงหรือปั้นจั่นเหนือศีรษะที่ลูกจ้างต้องขึ้นไปทำงานเหนือพื้นดิน ให้สวมใส่เข็มขัดนิรภัยและสายช่วยชีวิตด้วย
สรุป
การทำงานกับปั้นจั่นอย่างปลอดภัยผู้ปฏิบัติงานต้องผ่านการอบรมตามที่กฎหมายกำหนดเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจและสามารถปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัยและที่สำคัญนอกจากการอบรมแล้วปั้นจั่นที่ใช้ในการทำงานยังต้องผ่านการตรวจสอบตามระยะเวลาที่กำหนดเพื่อให้ปั้นจั่นมีความพร้อมใช้งานอยู่เสมอ